Thursday, June 25, 2009

โอบามา คุมเข้ม ป้องกันการจ่ายโบนัส เวอร์ ให้ ผู้บริหาร


เพื่อความเสมอภาคกันของแรงงานในภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย คณะรัฐบาลประธานาธิบดี บารัก โอบามา ของสหรัฐฯ จึงเตรียมการที่จะออกกฎหมายและระเบียบปฎิบัติกำหนดเพดานค่าตอบแทนของผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ โดยประกาศตั้งตำแหน่ง Special Master ซึ่งจะเป็นผู้มีอำนาจดูแลเรื่องแผนการด้านค่าตอบแทนและมีอำนาจปฎิเสธโครงสร้างเงิืนเดือนที่บริษัทเสนอมาได้ หากเห็นว่าสูงเกินไปหรือไม่เหมาะสม ซึ่งบริษัทเหล่านั้น ได้แก่ เอไอจี ซิตี้กรุ๊ป ธนาคารแห่งอเมริกา ไครสเลอร์ และเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) เป็นต้น ทั้งนี้ การที่รัฐบาบสหรัฐฯ มีความพยายามที่จะกำหนดขอบเขตของผลประโยชน์ที่บริษัทเหล่านี้ให้แก่ผู้บริหาร สืบเนื่องมาจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่บริษัทใหญ่ต่าง ๆ ที่รับเงินช่วยเหลือจากรัฐจำนวนมหาศาล แต่ยังคงจ่ายโบนัสให้กับพนักงานระดับสูงเป็นเงินก้อนโต ในเวลาที่กำลังเกิดวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี

Sunday, June 14, 2009

ทำธุรกิจบนเว็บ เพิ่มโอกาสการค้า


นิตยสารโอกาสธุรกิจ แอนด์แฟรนไชส์ จัดงาน มหกรรมอาชีพ ครั้งที่1 ระหว่างวันที่ 19- 21 มิ.ย. 2552
นิตยสารโอกาสธุรกิจ แอนด์แฟรนไชส์ ร่วมกับ โรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต รายการที่นี่มีอาชีพ FM 90.5 โดยการสนับสนุนของ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และบางนา มาร์โก้ อุปกรณ์คาร์แคร์ จัดงาน มหกรรมอาชีพ ครั้งที่1 ระหว่างวันที่ 19- 21 มิ.ย. 2552 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า บางนา ห้องบางนาฮอลล์ ชั้น บี1 งานแสดงสินค้าและอุปกรณ์อาชีพ ครั้งแรกในประเทศไทยพร้อมทั้งมีการอบรมสาธิต แบบบุฟเฟห์อาชีพ เลือกเรียนได้ใน 50 อาชีพ ในราคาเพียง 299 บาท รับฟรีซีดีสาธิต 30 อาชีพ สำหรับผู้เข้าอบรม และร่วมฟังเสวนาอาชีพยอดฮิต การทำกิจกรรมล้างรถและคาร์แคร์ การเปิดร้านกาแฟ

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า การทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ท ฟรีเรื่องการทำธุรกิจบนเว็บ เพื่อให้ข้อแนะนำที่เกิดความเป็นไปได้ทางการค้าและมีโอกาสที่จะประสบความ สำเร็จอย่างสูง พร้อมทั้งเรียนรู้ และรับฟังบรรยาย โดยตรงจากผู้มีประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว สำหรับเรื่องการเสวนา การทำธุรกิจบนเว็บจัดขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 21 มิย 52 เวลา 15.00-16.00 ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลได้ที่ www.franchisefocus.co.th หรือ โทร 02-720-4821-5

นายศุภยศ ศิริจำรูญวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พายซอฟท์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาซอฟท์แวร์ ด้านการทำเว็บไซต์ การทำการตลาดบนอินเทอร์เน็ต และผู้ก่อตั้งเว็บสำเร็จรูป MakeWebEasy กล่าวถึง การทำธุรกิจบนเวป เพิ่มช่องทางขยายโอกาสทางการค้าว่า แนวโน้มของการใช้อินเทอร์เน็ต ทั่วโลก และในประเทศไทยมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2008 จำนวน 15 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และปัจจุบันการซื้อสินค้า การค้นหาสินค้า และบริการ จากเว็บไซต์ ก็มีแนวโน้มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้นการทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต จึงเป็นอีกช่องทางที่จะขยายตลาด เพิ่มยอดขายให้กับทุกธุรกิจได้ นอกจากนี้ การเปิดร้านขายของบนอินเทอร์เน็ตก็เป็น การเริ่มต้นที่ดี ลงทุนน้อยกว่า การเช่าร้านค้า ที่มีราคาสูงกว่าร้านค้าบนอินเทอร์เน็ต อีกทั้งการทำการตลาดบนอินเทอร์เน็ตยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าสื่ออื่นอีกด้วย

Saturday, June 13, 2009

กรมพัฒน์ลุย “อี-คอมเมิร์ซออนไลน์รุ่น 3” หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์


หลังจากประสบความสำเร็จ และได้รับการตอบอย่างดี สำหรับการเปิดอบรม “อี-คอมเมิร์ซ” หรือ การค้าขายผ่านระบบออนไลน์ แก่ผู้ประกอบการไทย ด้วยระบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์มาแล้วถึง 2 รุ่น กว่า 1,000 ราย



กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงรุกเปิดอบรม “อี-คอมเมิร์ซออนไลน์” ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 3 โดย คณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ให้เหตุผลว่า ธุรกิจออนไลน์เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น ทุกปี โดยพิจารณาจากมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2550 (สำรวจในปี 2551) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 427,460 ล้านบาท ซึ่งจากเดิมในปี 2549 มีมูลค่ารวมที่ 305,159 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 40 %

ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีความสนใจที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ ในการซื้อขายสินค้ามากขึ้น โดยอี-คอมเมิร์ซ ถือเป็นเครื่องมือหรือช่องทางการค้าใหม่สำหรับผู้ประกอบการในการเพิ่มรายได้ และขยายกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น ที่สำคัญการทำอี-คอมเมิร์ซเริ่มต้นได้ง่าย ไม่ต้องลงทุนสูง เหมาะสำหรับสภาพเศรษฐกิจในยุคนี้ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตั้งเป้าหมายว่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนพาณิชย์ เพิ่มขึ้นเป็น 12,000 ราย และมีระดับความแพร่หลายและมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยเพิ่มสูง ขึ้น

“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีแผนสานต่อโครงการนี้ไปอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็จะมีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้สอด คล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยในอนาคตกรมฯ เตรียมเพิ่มบทเรียนอีก 2 หลักสูตร ได้แก่ กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าออนไลน์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการประกอบธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดอบรมให้ผู้ประกอบการได้ภายในปี 2553”

เนื้อหาในการอบรม อี-คอมเมิร์ซ ออนไลน์ รุ่น 3 เปิดอบรม 4 หลักสูตรด้วยกัน ได้แก่ ความรู้เบื้องต้นด้านอี-คอมเมิร์ซ การตลาดอี-คอมเมิร์ซ การพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ และหลักสูตรธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ สำหรับผู้สมัครที่ลงทะเบียนหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งทางกรมฯ ยังจัดให้เรียนฟรีอีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรงบการเงินสำหรับผู้บริหาร และหลักสูตรการเขียนจดหมายภาษาอังกฤษธุรกิจ โดยยังคงใช้รูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ อี-เลิร์นนิ่ง ผ่านเว็บไซด์ www.dbdacademy.com ตามเดิม

โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2552 และเริ่มเรียนตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2552 ค่าเล่าเรียนหลักสูตรละ 300 บาท ดูรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสมัครได้ทางเว็บไซด์ www.dbdacademy.com โทร.02 642 7242 ต่อ 191, 192, 152 และ





แหล่ง : http://www.smethailandclub.com

K-SME Start-up Solutionsกสิกรไทย ตอบโจทย์การเริ่มต้นธุรกิจ SME


กสิกรไทย เจาะลึกลูกค้า SME เดินหน้าให้บริการ K-SME Start-up Solutions สำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น หวังช่วย SME หน้าใหม่อยู่รอด



หลังผลสำรวจพบ มี SME อยู่ได้เกิน 1 ปีมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ตั้งเป้ายอดลูกค้าเข้าร่วมโครงการ 12,000 ราย

ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่ามีผู้ประกอบการที่สามารถดำเนินธุรกิจได้เกิน 1 ปี มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งมาจากหลายๆเหตุผลด้วยกันที่ทำให้ SME ไม่สามารถอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะเป็น การขาดประสบการณ์ การขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ การทำธุรกิจตามกระแส และการเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก

ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ธนาคารกสิกรไทยจึงออกบริการสนับสนุนธุรกิจเริ่มต้นกสิกรไทย (K-SME Start-up Solutions) เพื่อตอบสนองความต้องการด้านเงินทุน ตลอดจนการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ โดยในส่วนบริการสินเชื่อมี 2 รูปแบบใหม่เพื่อความเหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEแต่ละราย

รูปแบบแรก คือ บริการสินเชื่อเพื่อธุรกิจคล่องตัว เป็น การสนับสนุนสินเชื่อในรูปแบบของวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) แบบใช้บุคคลค้ำประกัน ซึ่งลูกค้าสามารถขอสินเชื่อได้ทั้งในนามของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีประสบการณ์การทำธุรกิจตั้งแต่ 1-3 ปี ยอดขายมากกว่า 500,000 บาทต่อปี พิจารณาจากการเดินบัญชีของกิจการไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ธนาคารจะให้การสนับสนุนสินเชื่อสูงสุด 300,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่เอ็มอาร์อาร์บวก 9% ต่อปี

รูปแบบที่สอง คือ บริการสินเชื่อเพื่อธุรกิจไม่สะดุด เป็น การสนับสนุนสินเชื่อในรูปแบบของวงเกินกู้ (Loan) วงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (O/D) หรือวงเงินหนังสือค้ำประกัน (L/I) ซึ่งลูกค้าสามารถขอสินเชื่อได้ทั้งในนามของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล มีประสบการณ์การทำธุรกิจตั้งแต่ 1-3 ปี มียอดขายมากกว่า 500,000 บาทต่อปี พิจารณาจากการเดินบัญชีของกิจการไม่น้อยกว่า 6 เดือนเช่นกัน โดยลูกค้าต้องมีประวัติทางการเงินที่ดี และไม่เคยมีประวัติปรับโครงสร้างหนี้มาก่อน สำหรับวงเงินสินเชื่อเพื่อธุรกิจไม่สะดุดนี้ ธนาคารจะให้การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อรวมต่อรายสูงสุดถึง 1,000,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่เอ็มอาร์อาร์บวก 2% ต่อปี โดยสามารถใช้สถานประกอบการหรือบ้านพักอาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ได้

อย่างไรก็ดี ปกรณ์ กล่าวเพิ่มว่าการที่ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดให้บริการสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจ เริ่มต้นกสิกรไทยจะช่วยให้ SME ที่เป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนการเงินที่เหมาะสม ทั้งนี้ลูกค้าที่ใช้บริการสนับสนุนธุรกิจเริ่มต้นกสิกรไทย จะทราบผลการพิจารณาเบื้องต้นภายใน 3 วัน และได้รับเงินภายใน 7 วัน โดยธนาคารตั้งเป้าลูกค้าเข้าร่วมโครงการนี้จำนวน 12,000 รายภายใน 1 ปี

“ธุรกิจเริ่มต้นในที่นี้ หมายถึงธุรกิจที่ดำเนินงานต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งกสิกรไทยถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ทำสินเชื่อพาณิชย์กับกลุ่ม SME ดังกล่าว เนื่องจากการให้สินเชื่อทั่วไปของสถาบันการเงินนั้นจะพิจารณาธุรกิจที่มีการ ดำเนินงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี และเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง ในการพิจารณาธนาคารจะให้ลูกค้ามีการเดินบัญชีรายรับ-รายจ่ายกับธนาคารอย่าง ต่ำ 1 ปี เพื่อดูประวัติของลูกค้า ในการประกอบการพิจารณาสินเชื่อ” ปกรณ์ กล่าวเสริม

นอกจากบริการด้านสินเชื่อแล้ว ลูกค้า SME ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ยังสามารถใช้บริการพิเศษเพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินกับ ธนาคาร เช่น บริการสายตรงเพื่อลูกค้าธุรกิจ K-BIZ Contact Center 02-888-8822 ให้บริการสอบถามข้อมูล ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจเกี่ยวกับธุรกรรมทางด้านบัญชี และการเงิน ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคาร

นอกจากนี้ยังได้รับส่วนลดต่างๆ ในการทำธุรกรมทางการเงินกับธนาคาร ตลอดจนสิทธิ์ในการเข้าใช้บริการ K SME Care Knowledge Center ศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับ SME แห่งแรก ที่อาคารจามจุรีสแควร์ ที่มีการอบรมให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี สามารถค้นคว้าหาความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจ รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ โดยจัดกิจกรรมเพื่อให้ SME ที่สนใจได้เข้าร่วมพบปะและแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อนนักธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ปกรณ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารกสิกรไทยนับว่าเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ให้การสนับสนุนทั้งเงินทุน และองค์ความรู้อย่างครบวงจรให้กับผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ โดยหวังที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจ SME ของไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง





แหล่ง : http://www.smethailandclub.com

Thursday, June 11, 2009

เผยคนไทยเล่นเน็ต-ช้อปออนไลน์ทุกวัน


เป็นผลสำรวจล่าสุดของบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด ซึ่งส่งทีมงานออกสำรวจโดยสุ่มจาก ประชากรในประเทศออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกาใต้ และไทย รวม 10 ประเทศ จำนวน 5,037 คน

ในเมืองไทย สุ่มสำรวจ 501 คน อายุ ระหว่าง 18-64 ปี มีบัญชีเงินฝาก มีรายได้เฉลี่ยปีละ 781,000 บาท ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือนละประมาณ 20,000 บาท และมีพฤติกรรมเล่นอินเทอร์เน็ตอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

จากการสำรวจพบว่า คนไทย 80% เข้า อินเทอร์เน็ตทุกวัน ส่วนใหญ่จะใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อ รับส่งอีเมล อ่านข่าวออนไลน์ หาข้อมูลออนไลน์เพื่อใช้การทำงานและการเรียน ที่เหลือก็ใช้เน็ตเพื่อความเพลิดเพลิน คุยกับเพื่อน

ข้อมูลที่น่าสนใจมากก็คือ กลุ่มสำรวจถึง 43% ชอบซื้อของออนไลน์

จากผลสำรวจผู้บริโภคทุกประเทศ ยกเว้นเกาหลี สิงคโปร์ และฮ่องกง มีแนวโน้มที่จะซื้อของออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เฉพาะประเทศไทย มีผู้บริโภคที่ตั้งใจจะซื้อของออนไลน์ในอนาคต เพิ่มขึ้นจาก 66% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 69% ในการสำรวจครั้งใหม่นี้

สำหรับพฤติกรรมของคนไทยต่อการเล่น อินเทอร์เน็ต พบว่า กลุ่มใหญ่ 80% เล่นเน็ตทุกวัน ที่เหลือจะใช้เน็ตสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง ต่ำสุดก็คือ เข้าเน็ตเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สถานที่ที่ใช้ต่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุดก็คือ ที่บ้าน สำนักงาน ที่เหลือเป็นกลุ่มน้อยที่เล่นอินเทอร์เน็ตบนมือถือ เข้าถึงเน็ตจากร้านอาหารและร้านกาแฟผ่านคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กส่วน ตัว ในกลุ่มวัยรุ่นมีน้อยมากที่เข้าถึงเน็ตจากสถานที่สาธารณะหรือมหาวิทยาลัย

อันนี้หลายคนคงอยากรู้ และคาดไม่ถึงก็คือ เว็บไซต์ที่คนไทยนิยมเข้าไปออนไลน์มากที่สุด 5 อันดับแรกก็คือ กูเกิลดอทคอม (google. com) มากถึง 78% รองลงมาคือ ฮอต เมล เฟสบุ๊ก กูเกิลไทย และยาฮูเมล เหตุผลที่เว็บไซต์ทั้ง 5 ได้รับความนิยมจากคนไทยมากที่สุดก็คือ สะดวกต่อการเข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่าง ๆ สำรวจโปรโมชั่นพิเศษ จากร้านค้า เข้าไปจองหรือซื้อสินค้าและบริการ และเข้าไปตรวจสอบข้อมูลบริษัทต่าง ๆ

เอ..แล้วไฮไฟว์ที่ฮิตกันทั้งบ้านทั้งเมืองตกสำรวจไปได้อย่างไร

ส่วนการชอปปิงออนไลน์นั้น กว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเข้าไปดูสินค้าออนไลน์ แต่ตัดสินใจซื้อเพียง 31% ที่เหลือแค่ดูแต่ไม่ซื้อ เพราะชอบไปดูสินค้าที่ร้านมากกว่า และกังวลเรื่องการชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ และบางส่วนบอกว่า วิธีการสั่งซื้อและชำระเงินของระบบออนไลน์ยังยุ่งยาก รวมไปถึงต้องรอให้จัดส่งอีก

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ปัจจัยที่กระตุ้นให้ชาวไทยซื้อของออนไลน์ คือ สินค้าออนไลน์มีราคาถูกกว่าในร้าน มีส่วนลดที่ดีกว่า เช่น ตั๋วเครื่องบิน หนังสือ อุปกรณ์สำหรับครัวเรือน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสตรี และเครื่องประดับ และห้องพักโรงแรม รีสอร์ทต่าง ๆ

สิ่งที่คนไทยอยากเห็นบนระบบชอปปิง ออนไลน์ก็คือ ต้องมีความปลอดภัยในการชำระเงิน ที่สำคัญต้องเป็นระบบที่ง่าย ๆ ไม่จ่ายซ้ำซ้อน และต้องเป็นการรับชำระเงินแบบเรียลไทม์หรือเวลาปัจจุบัน

ไอลีน วี รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ ระบุว่า ชอปปิงออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แม้ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เนื่องจากผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบาย และรู้สึกว่าผ่อนคลายมากกว่าเมื่อซื้อของ ออนไลน์ ดูจากจำนวนเฉลี่ยการซื้อของออนไลน์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 1.8% ในเดือนธันวาคมปี 2550 เป็น 2.0% ในเดือนเดียวกันของปี 2551

ข้อมูลจากผลสำรวจนี้ มีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมชอปปิงออนไลน์ เพื่อให้เจ้าของเว็บไซต์เข้าใจทิศทาง พฤติกรรมการบริโภค และความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น และสามารถที่จะนำไปปรับเป็นแนวทางในการกระตุ้นยอดนักช้อปออนไลน์ต่อไป

สิ่งหนึ่งที่มาสเตอร์การ์ด อาจจะไม่ได้สำรวจก็คือ วิธีการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ของผู้ซื้อผู้ ขายชาวไทยที่นิยมและได้รับความไว้วางใจมากก็คือ เมื่อเราจะสั่งสินค้าออนไลน์แล้ว จะโดยวิธีสั่งทางอีเมล ผ่านเว็บไซต์ของสินค้านั้น ๆ หรือเลือกของได้แล้วก็ใช้โทรศัพท์นั่นแหละ โทรฯเข้าไปสั่งซื้อ จากนั้นก็ได้หมายเลขบัญชีธนาคาร ชื่อบัญชี ให้เราโอนเงินผ่าน เอทีเอ็ม หลังจากนั้นก็เอาสลิปที่ได้จากตู้เอทีเอ็ม แฟกซ์ หรือโทรฯบอกหมายเลขสลิปของเรา หรือเข้าไปเว็บบอร์ดสินค้าที่เราต้องการเขียนแจ้งหมายเลขเพื่อยืนยันการโอน อีกที

คนไทยเล่นเน็ต-ช้อปออนไลน์ทุกวัน

จากนั้นก็รอประมาณวันสองวันก็จะได้รับสินค้าทางไปรษณีย์ ระหว่างรอก็จะมีหมายเลขการส่งสินค้าให้เช็กผ่านเว็บไซต์ว่าของที่เราสั่ง ซื้อเดินทางถึงไหนแล้ว

ร้านค้าออนไลน์นิยมใช้วิธีชำระเงินแบบนี้มากลูกค้าก็ชอบ เพราะง่ายและชัดเจนกันทั้งสอง ฝ่าย ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ปริมาณการสั่งซื้อไม่มาก ยอดการชำระเงินไม่สูงนัก และเป็นกลุ่มไม่นิยมใช้บัตรเครดิต เพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย

มีข้อไหนบ้างล่ะที่ตรงกับพฤติกรรมของคุณไม่ว่าจะเล่นเน็ต หรือซื้อของ ส่วนผู้เขียนไม่อยากบอกเลย ที่เค้าสำรวจมาทั้งหมดนั้น ทำซะทุกอย่างเลย.





แหล่ง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

จับรองเท้าใส่ตู้หยอดเหรียญ ไอเดียทำเงิน สุดคูล !


การทำให้ธุรกิจเติบโตในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น กำลังซื้อของผู้บริโภค มีอยู่เต็มตลาดเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็ทำได้



จับรองเท้าใส่ตู้หยอดเหรียญ ไอเดียทำเงิน สุดคูล !
สิ่งที่ยากกว่าคือ การทำให้ธุรกิจเติบโตในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง

เช่นเดียวกับการเริ่มต้นธุรกิจ ที่ในช่วงเวลาที่ดีใครๆ ก็ตัดสินใจลงทุน แต่ในช่วงเวลาวิกฤตที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันและดูเหมือนว่า จะต้องอยู่กับมันไปอีกนาน ทำให้หลายคน ถอดใจและชะลอการลงทุนออกไปก่อน

คุยกับคนใกล้ตัวหลายๆ คนที่เคยกำลังเตรียมตัดสินใจลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนเพื่อเริ่มต้น ธุรกิจของตัวเอง เกือบทั้งหมดตัดสินใจที่จะชะลอการเปลี่ยนแปลงออกไปก่อน

จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้ามองเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนเป็นปัจจัยหลัก แต่ในโลกความจริง ถ้ามองดูให้ดี ไม่ว่าจะสถานการณ์เช่นไรก็ยังมีโอกาสเสมอ สิ่งที่ต้องมีสำหรับคนที่จะก้าวเป็นผู้ประกอบการมือใหม่คือความเก่งกล้าและ ต้องคิดต่าง

คิดต่าง ไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ หรือช่องทางการขายใหม่ๆ คิดต่างในสิ่งที่อาจจะไม่มีใครเคยเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้

ใครจะคิดว่า "รองเท้าจะถูกบรรจุและจำหน่ายในรูปแบบ ตู้หยอดเหรียญ" เรื่องที่นำมาเล่าสู่กันฟัง ไม่ใช่แค่เป็นไปได้ แต่เป็นไปแล้ว และไปได้ดีด้วย

ในอังกฤษก็มีผู้ประกอบการซึ่งผลิตและขายรองเท้าแบรนด์เล็กๆ อย่างน้อย 2-3 ราย หยิบเอาไอเดียที่ว่ามาทำให้เกิดขึ้นจริง โดยผลิตรองเท้าสำหรับผู้หญิงแบบไม่มีส้น จะว่าไปก็เป็นการพัฒนารูปแบบมาจากรองเท้าบัลเลต์ที่นอกจากสวยแล้วยังใส่สบาย มาใส่ตู้หยอดเหรียญและนำมาวางจำหน่าย

Rollasoles และ Afterheels เป็น 2 แบรนด์รองเท้าที่เริ่มให้บริการตู้รองเท้าหยอดเหรียญบอกเหตุผลถึงการตัดสิน ใจของพวกเขา ซึ่งฟังแล้วบางคนอาจจะถึงบางอ้อ พวกเขาอธิบายว่า ผู้หญิงทุกคนเวลาเลือกรองเท้าส้นสูงที่สวมไปทำงาน หรือสวมไปเที่ยวกลางคืน จะคำนึงถึงความสวยเป็นสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด หรือคุณผู้หญิง คนไหนจะปฏิเสธ

ทีนี้เมื่อเอาความสวยเป็นหลัก ลองนึกสภาพว่าถ้าต้องใส่รองเท้าส้นสูง 4-5 นิ้ว อยู่ตลอดเวลาติดต่อกันหลายๆ ชั่วโมง หนักกว่านั้น บางคนไม่ใช่แค่ใส่ธรรมดา แต่เป็นขาเต้น การยืนอยู่บนรองเท้าส้นสูงหลายชั่วโมง ทำให้เมื่อถึงเวลาหนึ่ง จากความสวยจะกลายเป็นความทรมานตามมา

"รองเท้าพวกนี้กำลังจะฆ่าฉัน" เป็นคำโฆษณาสนุกๆ ที่ Afterheels หยิบมาใช้โฆษณา ซึ่งหยิบมาจากประสบการณ์จริงของผู้หญิงจำนวนมากที่เคยประสบชะตากรรมในการ ถูกรองเท้ากัด หรือเมื่อยในระดับที่รับไม่ไหว

การตัดสินใจติดตั้ง "ตู้ขายรองเท้าหยอดเหรียญ" ในคลับ บาร์ ซึ่งเป็นที่เที่ยวกลางคืนของสาวนักแดนซ์ จึงทำให้ผู้ผลิตทั้ง 2 รายขายรองเท้าได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ประการหนึ่งมาจากการตั้งราคาที่ไม่สูงเกินไป ตกประมาณคู่ละไม่เกิน 400 บาท ประการที่ 2 เป็นเพราะรองเท้าที่ออกแบบมาแบบใส่สบายและดีไซน์สุดเก๋ ประการที่ 3 แพ็กเกจจิ้งที่ใส่รองเท้าในตู้หยอดเหรียญนั้นได้รับการออกแบบให้เป็นถุงที่ ทำให้หลังจากสลัดรองเท้าส้นสูงคู่กายทิ้ง พวกเธอก็ยังมีที่ใส่รองเท้ากลับบ้านแบบสบายๆ (ก็ใครล่ะจะพกถุงไว้ใส่รองเท้าตอนไปเที่ยวกลางคืน)

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทำให้เมื่อถึงเวลาที่รองเท้าจะฆ่าบรรดาสาวๆ พวกเธอจึงยอมควักกระเป๋าโดยง่ายดาย และเป็นเหตุให้ นี่เป็นช่องทางจำหน่ายรองเท้าที่สามารถสร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการได้ดี เกินกว่าที่คาด

จุดหมายปลายทางของ "ตู้ขายรองเท้าหยอดเหรียญ" ยังไม่ได้มีเฉพาะอยู่แต่ในที่เที่ยวกลางคืน butterfly twists เป็นอีกแบรนด์ที่หันมาใช้ช่องทางในการจำหน่ายที่ว่านี้ แต่มีวางขายอยู่ในพื้นที่ทั่วไป ไม่ว่าจะตามห้างสรรพสินค้า แหล่งช็อปปิ้ง ฯลฯ

มีลูกค้าคนหนึ่งเขียนเล่าไว้ในเว็บไซต์ของ butterfly twists ว่า อยู่ดีๆ เธอก็เกิดเท้าพลิกในขณะเดินช็อปปิ้ง ถ้าใส่รองเท้า ส้นสูงที่เธอใส่มาคงจะเดินต่อไม่ได้ แต่โชคดีที่ตรงนั้นมีตู้หยอดเหรียญ ทำให้เธอมีรองเท้าคัสชูที่ไม่มีส้นและใส่สบายเปลี่ยน

butterfly twists ยังคิดต่อไปอีกชั้นหนึ่งด้วยในการออกแบบรองเท้า ซึ่งสามารถพับให้เป็นขนาดเล็ก และสามารถใส่ในกระเป๋าถือของผู้หญิงที่พวกเธอสามารถเก็บไว้เป็นรองเท้าสำรอง ในกรณีฉุกเฉินได้ตลอดเวลา

เรื่องที่นำมาเล่าสู่กันฟังไม่ใช่แค่เรื่องของการคิดต่าง แต่เป็นโอกาสที่เกิดจากการคิดและลงมือทำ โอกาสที่สร้างด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องรอให้มันเดินมาหา !





แหล่ง : ประชาชาติธุรกิจ (www.matichon.co.th/prachachart)

Sunday, June 7, 2009

เพชรเถ้ากระดูก วิทยาศาสตร์พารวย


ชวนเปิดไอเดียธุรกิจแบบ วิทย์-วิทย์ กับ "เพชรเถ้ากระดูก" อัลกอร์แดนซ่า (ALGORDANZA) สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์
กับเจ้าของลิขสิทธิ์หนึ่งเดียวในไทย "ดร.ยงยศ มนต์เสรีนุสรณ์" สังกัด เลอโบ อินเตอร์กรุ๊ป ที่ปั้นงานวิทย์เป็นเงินล้าน

"เพชร ก็คือเคมี มันคือคาร์บอน เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเราสามารถนำเอาสสารคาร์บอน มาทำให้อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกับใต้พื้นผิวโลก ด้วยเทคโนโลยี ก็สามารถเปลี่ยนเป็นเพชรได้ เช่นเดียวกับอัฐิของคนที่เรารัก และนี่คือเพชรแท้ไม่ใช่เพชรเทียม เพียงแต่เป็นเพชรที่เกิดขึ้นในห้องแล็บ และมีมูลค่าไม่แตกต่างจากเพชร"

ดร.ยงยศ มนต์เสรีนุสรณ์ บริษัท เลอโบ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์ เพชรจาก "เถ้ากระดูก" อัลกอร์แดนซ่า (ALGORDANZA) รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย บอกเล่าไอเดียธุรกิจที่กำลังเข้ามาสร้างสีสันในตลาดเพชรเวลานี้

การนำเถ้ากระดูกของคนตาย มาทำเป็นเพชร เพื่อเก็บรักษา "ความทรงจำ" ของคนที่เรารัก ไม่ใช่เรื่องใหม่ในตลาดโลก เจ้าของลิขสิทธิ์ธุรกิจนี้ คือ บริษัทอัลกอร์แดนซ่า สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีอยู่ 22 สาขาทั่วโลก พวกเขาคิดค้นเทคโนโลยีนี้มานานกว่า 30-40 ปี แต่การทำธุรกิจที่ต้องเริ่มจากทำให้คนเชื่อในคอนเซปต์ ยอมนำเอาสิ่งสุดท้ายที่หลงเหลือจากคนที่เรารักอย่างเถ้ากระดูก มาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนเป็นเพชร ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา

จนเมื่อนักวิทยาศาสตร์เก่าอย่าง "ดร.ยงยศ" ที่มีมุมของธุรกิจอยู่เต็มตัว จากประสบการณ์บริหารบริษัทยาข้ามชาติมานานหลายปี ได้พูดคุยกับ "VETI BRIMER" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อัลกอร์แดนซ่า (สวิตเซอร์แลนด์) จำกัด ที่บังเอิญเป็นนักวิทยาศาสตร์หัวใจธุรกิจเช่นเดียวกัน วิทย์เจอกับวิทย์ก็เลยคลิก ได้สิทธิ์เป็นตัวแทนประจำประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พวกเขาไม่ได้กำลังขาย "เพชร" แต่เสนอบริการที่สามารถทำให้เราเก็บ "ความทรงจำ" ของคนที่รักไว้ใกล้ตัวได้

"เพชรคือตัวแทนของความสุข การแต่งงาน แต่ชีวิตของคนเรามันไม่ได้มีแค่นี้ เราต้องมีความทรงจำที่ดี หลังจากที่สูญเสียใครสักคนไป และความมีศักดิ์ศรีของคนที่เสียชีวิต ทำอย่างไรที่จะดึงเอามุมมองนี้ ให้เข้ามาสู่สิ่งที่สามารถจับต้องได้ ซึ่งรูปธรรมที่มีคุณค่ามากที่สุด ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ทอง แต่มันคือ “เพชร” ที่ไม่แตกสลาย เมื่อเทคโนโลยีมันสามารถทำได้จึงเชื่อมต่อแนวคิดนี้ให้เป็นจริง"

คอนเซปต์ดูเข้าที แต่ในเชิงธุรกิจบอกได้คำเดียวว่า ยากส์ แต่ความยากนี่แหละ ที่ช่วยสกัดคู่แข่งออกจากตลาด

โดยเฉพาะ "หนึ่งเดียวในโลก" อัฐิใครก็อัฐิคนนั้น ทดแทนกันไม่ได้ โดยเฉพาะคุณค่าทางจิตใจ ที่สำคัญเลอโบเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว พร้อมกับความน่าเชื่อที่มีเต็ม 100% เพราะ "เลอโบ" คือ ธุรกิจครอบครัวของภรรยา "พัชรี มนต์เสรีนุสรณ์" ที่อยู่ในสนามนี้มานานหลายทศวรรษ

"ถามว่าตลาดใหญ่ไหม คนเสียชีวิตปีหนึ่งๆ เยอะมาก แต่สำคัญคือคนที่จะมาทำกับเรามันไม่ใช่ทุกคน หนึ่งคือเขาต้องมีความเชื่อก่อนว่าจะรักษาความทรงจำด้วยวิธีนี้ เชื่อในคอนเซปต์ เชื่อในหลักการ เชื่อว่ามันทำได้จริง รวมถึงต้องเชื่อในผู้ที่นำบริการนี้เข้ามา ซึ่งเรามองว่าเลอโบ สามารถตอบความเชื่อนี้ได้เพราะเราทำธุรกิจเพชรมานาน และเรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์"

ด้วยจุดมุ่งหมายที่ดีที่จะขายความทรงจำ ไม่ได้ทำเพื่อหวังร่ำรวยกับธุรกิจนี้ เขายอมรับว่าแม้แต่เถ้ากระดูกของสัตว์ก็สามารถนำมาทำเป็นเพชรได้ และเมื่อเป็นเพชรมันก็จะมีมูลค่าและสามารถนำไปขายได้ ซึ่งอาจมีคนคิดอย่างนั้น แต่สำหรับพวกเขามีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่รับเถ้ากระดูกของสัตว์เพื่อป้องกัน ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ส่วนเถ้ากระดูกที่ได้มา มีศักดิ์ศรี ดังนั้นทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรับมา แล้วส่งไปที่ห้องแล็บประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนมาเป็นเพชรส่งถึงมือลูกค้า จะไม่ผ่านมือของช่างเทคนิคคนไหน จะให้เกียรติกับทุกอัฐิอย่างดีที่สุด

ขณะที่ผลพลอยได้จากการทำร้านเพชรมาข้ามทศวรรษ ทำให้บริการเป็น one-stop-sevice มาที่นี่ที่เดียว อยากทำเพชรจากเถ้ากระดูกก็ได้ หรือจะนำเพชรที่ได้มาเปลี่ยนเป็นเครื่องประดับสวยๆ ก็ทำได้ และมั่นใจได้ว่าเพชรจะไม่ถูกสับเปลี่ยนในระหว่างกระบวนการผลิต เพราะมีเพียง "เลอโบ" กับ "อัลกอร์แดนซ่า" เท่านั้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทั้งหมดนี้

พวกเขาเชื่อมั่นว่าจะให้บริการอย่างดีที่สุด แต่จะให้คนทุกคนลุกขึ้นมาเชื่อเหมือนกันไม่ได้ง่าย ที่มาของการเปิดเกมตลาด ทำประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ให้คนไทยได้รู้จักคอนเซปต์ และมองเห็นเจตนาดีที่ซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์

"สิ่งที่เราต้องทำคือ ให้เขาเชื่อในคอนเซปต์นี้ จากนั้นก็รู้ว่ามันมีอยู่ ซึ่งเราไม่ได้กำลังขายโปรดักท์ แต่เราขายเซอร์วิซ เพราะอัฐินี้เป็นของคนที่คุณรัก เมื่อมาทำเป็นเพชรเสร็จแล้วมันก็เป็นของคุณ ความทรงจำนี้เป็นของคุณ ไม่ใช่เป็นของเรา เราเป็นแค่ตัวเชื่อมให้เท่านั้น"

แม้จุดเริ่มต้นทุกคนจะเห็นโอกาสจากลูกค้าร้านเพชร แต่สำหรับ "ยงยศ" เขามองว่า คือลูกค้าตั้งแต่กลุ่ม บีบวก ขึ้นไป จะเป็นใครก็ได้ เพราะเชื่อว่าราคาค่าบริการคิดตามต้นทุนที่แท้จริง และทุกคนสามารถจับต้องได้

"ผมมองว่า ความทรงจำที่ดีเป็นสิ่งที่ตั้งราคายากมาก แต่เรารับประกันว่าอยู่ในอัตราที่ทุกคนรับได้ ยิ่งหากไปเปรียบเทียบกับบลูไดมอนด์เพราะเพชรนี้มีสีฟ้าเหมือนกัน ยิ่งต้องรีบทำเพราะมันจะถูกกว่ามาก โดยเทคโนโลยีที่มีเราทำได้ตั้งแต่ 0.25 -1 กะรัต ต่อเถ้ากระดูก 500 กรัม โดยต่อ 1 กะรัต คิดราคาที่ 7-8 แสนบาท ส่วน 0.25 กะรัตอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาท"

ผู้บริหารเลอโบ คาดหวังว่าจะได้ลูกค้าประมาณ 50 รายต่อปี แต่ทำใจได้ถ้าแม้ในปีนี้จะไม่มีลูกค้าสักรายเดียว นั่นเพราะความเชื่อต้องใช้เวลา และธุรกิจจะเป็นลักษณะขั้นบันได นั่นคือเริ่มจากคนยังไม่เชื่อ จนมารับรู้และเข้ามาใช้บริการจำนวนเยอะพร้อมๆ กัน จากนั้นก็จะชินและอาจขึ้นมาอีกถ้ามีกลุ่มที่ต้องการ

"ถ้าคนรับรู้แล้วครั้งเดียวอาจเข้ามาเป็น 10-20 คน ซึ่งเท่านั้นเราก็ดีใจแล้ว ลองคำนวณดูขั้นต่ำที่สุด ถ้าเขาทำ 0.25 กะรัต ราคา 2 แสนบาท ต่อปีก็เป็นหลายล้านแล้ว"

สำหรับการทำธุรกิจนี้ เขาบอกว่า ที่คนทำน้อย เพราะเป็นงานที่ยาก และใช้เทคโนโลยี ที่ต้องลงทุนสูง ต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้า สำหรับพวกเขาไม่ต้องลงทุนเรื่องเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเพราะไม่ใช่ผู้ผลิต แต่การลงทุนทั้งหมดจะเป็นด้านการตลาด โดยใช้งบประมาณในปีแรกไปที่ 3 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้เป็นหลัก โดยหากมีลูกค้าเข้ามาก็เชื่อว่าจะคืนทุนได้ในเวลาไม่นาน

อย่างไรก็ตามเกมธุรกิจของเลอโบ ในฐานะตัวแทนจำหน่าย "อัลกอร์แดนซ่า" ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ เนื่องจาก พวกเขายังมีสิทธิ์ทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย

"เขาให้เราดูเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมมองถึงหลายประเทศอย่างสิงคโปร์ เวียดนาม แต่ไม่รวมประเทศมุสลิมที่ไม่เผาศพแต่ใช้การฝัง ซึ่งเท่านี้ก็ดูไม่ไหวแล้ว เพราะต้องเข้าใจว่า การผลิตมีจำกัด อัลกอร์แดนซ่า มีแล็บที่สวิสและที่เบอร์ลิน จำนวนการผลิตต่อปียังน้อยมาก เพราะทำแบบเม็ดต่อเม็ด และใช้เวลานานถึง 4 เดือน จึงจะได้เพชรแต่ละเม็ดออกมา แต่นี่ยิ่งทำให้สินค้าเราเด่น มีความเป็นยูนิค ในความยากของมัน เวลาทำยาก คนจะมาเป็นคู่แข่งก็ยากตามไปด้วย เพราะเขาไปทำอย่างอื่นที่ได้เงินเร็วกว่ากันหมด กำแพงที่จะเข้ามามันจึงสูงมาก"

ความยากที่เขาเชื่อว่าจะสร้างความได้เปรียบในธุรกิจตามมา แต่ในท้ายที่สุด สิ่งที่เขาคาดหวังมากไปกว่าความสำเร็จทางธุรกิจ คือ เปลี่ยนเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ให้มีทางเลือกในการเก็บรักษาความทรงจำของคนที่รักไว้ได้

"เราไม่ได้ขายเรื่องของความเชื่อ ไม่ใช่การบูชา แต่เราขายความทรงจำที่คุณมีต่อคนที่คุณรัก"

อีกหนึ่งผลผลิตที่จุดประกายมาจากผลงานวิทยาศาสตร์ เพื่อแปลงสิ่งที่อยู่บนหิ้งให้ขึ้นห้างฯ ขอเพียงแต่ทำวิทยาศาสตร์ให้สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้เท่านั้น





แหล่ง : กรุงเทพธุรกิจ (www.bangkokbiznews.com)