Sunday, May 31, 2009

อุตสาหกรรมเบเกอรี โอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทย


ในวันที่ 3-9 ต.ค.นี้ ที่เมืองดุสเซนดอล์ฟ ประเทศเยอรมนี กำลังจะมีงานที่มีชื่อย่อว่า Iba (อีบา) หรืองานเบเกอรีโลก ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี



โดยเป็นงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับ เบเกอรี ขนม ช็อกโกแลต เค้ก วัตถุดิบในการประกอบอาหาร และผู้ผลิตอุปกรณ์ทำ เบเกอรี เช่น เตาอบ เข้าร่วมแสดงในงานเป็นจำนวนมาก และในปีนี้ถือเป็นปีที่ 60 ของการจัดงานดังกล่าว

คณะผู้จัดงานจึงเดินทางมาประเทศไทย เพื่อเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเดินทางไปชมงานพร้อมกับแสดงสินค้า โดยในการจัดงานครั้งที่แล้วเมื่อปี 2549 ที่เมือง มิวนิก มีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานราว 979 ราย จาก 144 ประเทศทั่วโลก บนพื้นที่ทั้งหมด 1.1 แสนตารางเมตร ซึ่งหนึ่งใน ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมี อ.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันดีในวงการอาหารในนาม อ.ยิ่งศักดิ์

อ.ยิ่งศักดิ์ เล่าว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้วได้พา ผู้ประกอบการที่ผลิตเตาอบขนมและผู้ผลิตแป้งข้าวโพดจากประเทศไทยไปเข้าร่วม แสดงสินค้าภายในงาน Iba และแม้ว่าเตาอบขนมที่ผู้ประกอบการไทยนำไปแสดงจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เท่ากับเตาอบแบบอื่น แต่ภายในงานก็มีผู้เข้าร่วมจากประเทศเวียดนาม กัมพูชา พม่า แอฟริกา ซึ่งต้องการเตาอบแบบที่ผู้ประกอบการไทยผลิต เพราะหากเป็นเทคโนโลยี ขั้นสูงแบบยุโรปราคาจะสูงเกินไป และคนในประเทศเหล่านั้นมีกำลังซื้อไม่เพียงพอ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการผลิตเตาอบที่ไม่เคยคิดจะผลิตเพื่อการส่งออก กลับได้รับออร์เดอร์จากประเทศที่อยู่ใกล้เคียงประเทศเรา เพราะคิดว่าระบบที่ผลิตไม่ทันสมัยเพียงพอ แต่ประเทศที่ด้อยกว่าประเทศเราก็มี และมีความต้องการสินค้าดังกล่าวไปใช้

ส่วนผู้ประกอบการที่ผลิตแป้งข้าวโพด ซึ่งในประเทศไทยไม่ค่อยได้รับความนิยม ส่วนใหญ่ถูกนำไปทำขนม แต่ในต่างประเทศใช้แป้งข้าวโพดเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำเบเกอรี หากข้าวโพดที่ล้นตลาดถูกนำไปแปรรูปแล้วส่งออกไปยังประเทศที่มีความต้องการ ใช้สูง ก็ถือเป็นการช่วยเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวโพด เพิ่มมูลค่า และเพิ่มรายได้จากการส่งออก

การเข้าร่วมงานของผู้ประกอบการไทยเพียง 2 ราย เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ว่า หากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีผู้ประกอบการรายย่อยที่มีคุณภาพมากมาย แต่หากเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายเพียงในประเทศเท่านั้น อาจไม่ได้ช่วยให้ ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นมากนัก และยังทำให้เกิดการแข่งขันกันเองอีกด้วย

อ.ยิ่งศักดิ์ เห็นว่า ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลชุดใด สมัยใด เห็นตลาดเบเกอรีหรือตลาดขนมเป็นตลาดที่สำคัญ ทั้งที่เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและมีอัตราการเติบโตทุกปี ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม

ปีเตอร์ เบกเกอร์ ประธานสมาพันธ์ ผู้ผลิตเบเกอรีแห่งเยอรมนี กล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจโดยรวมของโลกซบเซาอย่างที่ ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ในช่วงไตรมาสแรก ที่ผ่านมาพบว่าตลาดเบเกอรีในประเทศเยอรมนีมีอัตราการเติบโตขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดนี้ยังมีการเติบโตต่อไปได้ โดยมูลค่าของตลาดเบเกอรีในประเทศเยอรมนี ทั้งปีอยู่ราว 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดเบเกอรียัง เติบโต คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะเศรษฐกิจ ด้วยการลดวันในการเดินทางท่องเที่ยวลงจาก 2 สัปดาห์ เหลือ 8 วัน และใช้เวลาพักผ่อน อยู่กับบ้านมากขึ้น พร้อมกับการแสวงหาความสุขให้เกิดขึ้นภายในบ้านด้วยการรับประทานขนมเค้กหรือ ช็อกโกแลต ทดแทนการเดินทางท่องเที่ยว

ขณะที่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี ตลาด เบเกอรีก็ไม่ได้เติบโตมากนัก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบตลาดเบเกอรีทั้งในช่วงที่เศรษฐกิจดีและไม่ดีแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร อุตสาหกรรมนี้ก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ อ.ยิ่งศักดิ์ยังได้แนะแนวทางสำหรับการส่งเสริมตลาดเบเกอรีในประเทศไทยและ ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยอยากให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของตลาดดังกล่าวว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ สูง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นที่รัฐบาลให้การส่งเสริม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน สินค้าชนิดใดที่สามารถแปรรูปเพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตขนม เช่น สับปะรด แทนที่จะตัดแต่งใส่กระป๋องส่งออกเท่านั้น ก็ สามารถอบแห้งเพื่อนำไปตกแต่งหน้าเค้กได้เช่นกัน รวมไปถึงผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีผลผลิตล้นตลาด ก็สามารถนำไปแปรรูปเพื่อเป็นส่วนประกอบในการผลิตขนม ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร และยังเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเจ้าของสวนด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลควรใช้การอบรมให้ ผู้ประกอบการรู้ถึงวิธีการเจรจาทางการค้า การรับออร์เดอร์ การจัดการระบบโลจิสติกส์ การแนะนำการติดต่อทางการค้า การ พาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพไปแสดง สินค้าในงานที่สำคัญๆ ระดับโลก ที่มี ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ผู้ซื้อ และผู้ขายจำนวนมากไปรวมตัวกัน

สิ่งที่แนะนำมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ผู้ผลิตสินค้า แม้กระทั่งเกษตรกรได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และยังเป็นการเพิ่มรายได้ ของประเทศในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งตลาดดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการแม้ยามเศรษฐกิจไม่ดีเหมือน กับธุรกิจต่างๆ ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น

สำหรับตลาดเบเกอรีในประเทศไทย ไม่มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตลาดรวม จึงไม่สามารถที่จะบอกเป็นตัวเลขได้ แต่ในช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าตลาดเบเกอรีมีการเติบโตขึ้นในเชิงมูลค่า แต่ปริมาณกลับลดลง ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการ ผู้ขายขนมเค้ก หรือเบเกอรีราคาถูก ที่ขายตามท้องถนนทั่วไปไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะ ผู้บริโภคระดับล่างไม่มีกำลังซื้อ

แต่เบเกอรีระดับพรีเมียมในห้างสรรพ สินค้าราคาแพงยังสามารถขายได้ และยังมีการสั่งนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตเบเกอรี ระดับพรีเมียมมาเป็นจำนวนมาก เช่น เม็ดวอลนัต แมกคาเดเมีย อัลมอนด์ เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการผลิตเบเกอรีที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานยังสามารถอยู่รอด ได้แม้เศรษฐกิจจะซบเซา อันเป็นทิศทางเดียวกับตลาดโลก

ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยได้มีการพัฒนาฝีมือในการผลิตขนมเบเกอรี ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ก็จะสามารถที่จะส่งออกไปจำหน่ายเป็นสินค้าส่งออกของประเทศได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าเห็นช่องทางในการดำเนินการเพื่อ ไปให้ถึงจุดนั้น หรือไม่





แหล่ง : โพสต์ ทูเดย์ (www.posttoday.com)
โดย : WebMaster
วันที่ : 30/5/2552

No comments:

Post a Comment