Sunday, June 7, 2009

เพชรเถ้ากระดูก วิทยาศาสตร์พารวย


ชวนเปิดไอเดียธุรกิจแบบ วิทย์-วิทย์ กับ "เพชรเถ้ากระดูก" อัลกอร์แดนซ่า (ALGORDANZA) สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์
กับเจ้าของลิขสิทธิ์หนึ่งเดียวในไทย "ดร.ยงยศ มนต์เสรีนุสรณ์" สังกัด เลอโบ อินเตอร์กรุ๊ป ที่ปั้นงานวิทย์เป็นเงินล้าน

"เพชร ก็คือเคมี มันคือคาร์บอน เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเราสามารถนำเอาสสารคาร์บอน มาทำให้อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกับใต้พื้นผิวโลก ด้วยเทคโนโลยี ก็สามารถเปลี่ยนเป็นเพชรได้ เช่นเดียวกับอัฐิของคนที่เรารัก และนี่คือเพชรแท้ไม่ใช่เพชรเทียม เพียงแต่เป็นเพชรที่เกิดขึ้นในห้องแล็บ และมีมูลค่าไม่แตกต่างจากเพชร"

ดร.ยงยศ มนต์เสรีนุสรณ์ บริษัท เลอโบ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์ เพชรจาก "เถ้ากระดูก" อัลกอร์แดนซ่า (ALGORDANZA) รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย บอกเล่าไอเดียธุรกิจที่กำลังเข้ามาสร้างสีสันในตลาดเพชรเวลานี้

การนำเถ้ากระดูกของคนตาย มาทำเป็นเพชร เพื่อเก็บรักษา "ความทรงจำ" ของคนที่เรารัก ไม่ใช่เรื่องใหม่ในตลาดโลก เจ้าของลิขสิทธิ์ธุรกิจนี้ คือ บริษัทอัลกอร์แดนซ่า สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีอยู่ 22 สาขาทั่วโลก พวกเขาคิดค้นเทคโนโลยีนี้มานานกว่า 30-40 ปี แต่การทำธุรกิจที่ต้องเริ่มจากทำให้คนเชื่อในคอนเซปต์ ยอมนำเอาสิ่งสุดท้ายที่หลงเหลือจากคนที่เรารักอย่างเถ้ากระดูก มาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนเป็นเพชร ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา

จนเมื่อนักวิทยาศาสตร์เก่าอย่าง "ดร.ยงยศ" ที่มีมุมของธุรกิจอยู่เต็มตัว จากประสบการณ์บริหารบริษัทยาข้ามชาติมานานหลายปี ได้พูดคุยกับ "VETI BRIMER" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อัลกอร์แดนซ่า (สวิตเซอร์แลนด์) จำกัด ที่บังเอิญเป็นนักวิทยาศาสตร์หัวใจธุรกิจเช่นเดียวกัน วิทย์เจอกับวิทย์ก็เลยคลิก ได้สิทธิ์เป็นตัวแทนประจำประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พวกเขาไม่ได้กำลังขาย "เพชร" แต่เสนอบริการที่สามารถทำให้เราเก็บ "ความทรงจำ" ของคนที่รักไว้ใกล้ตัวได้

"เพชรคือตัวแทนของความสุข การแต่งงาน แต่ชีวิตของคนเรามันไม่ได้มีแค่นี้ เราต้องมีความทรงจำที่ดี หลังจากที่สูญเสียใครสักคนไป และความมีศักดิ์ศรีของคนที่เสียชีวิต ทำอย่างไรที่จะดึงเอามุมมองนี้ ให้เข้ามาสู่สิ่งที่สามารถจับต้องได้ ซึ่งรูปธรรมที่มีคุณค่ามากที่สุด ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ทอง แต่มันคือ “เพชร” ที่ไม่แตกสลาย เมื่อเทคโนโลยีมันสามารถทำได้จึงเชื่อมต่อแนวคิดนี้ให้เป็นจริง"

คอนเซปต์ดูเข้าที แต่ในเชิงธุรกิจบอกได้คำเดียวว่า ยากส์ แต่ความยากนี่แหละ ที่ช่วยสกัดคู่แข่งออกจากตลาด

โดยเฉพาะ "หนึ่งเดียวในโลก" อัฐิใครก็อัฐิคนนั้น ทดแทนกันไม่ได้ โดยเฉพาะคุณค่าทางจิตใจ ที่สำคัญเลอโบเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว พร้อมกับความน่าเชื่อที่มีเต็ม 100% เพราะ "เลอโบ" คือ ธุรกิจครอบครัวของภรรยา "พัชรี มนต์เสรีนุสรณ์" ที่อยู่ในสนามนี้มานานหลายทศวรรษ

"ถามว่าตลาดใหญ่ไหม คนเสียชีวิตปีหนึ่งๆ เยอะมาก แต่สำคัญคือคนที่จะมาทำกับเรามันไม่ใช่ทุกคน หนึ่งคือเขาต้องมีความเชื่อก่อนว่าจะรักษาความทรงจำด้วยวิธีนี้ เชื่อในคอนเซปต์ เชื่อในหลักการ เชื่อว่ามันทำได้จริง รวมถึงต้องเชื่อในผู้ที่นำบริการนี้เข้ามา ซึ่งเรามองว่าเลอโบ สามารถตอบความเชื่อนี้ได้เพราะเราทำธุรกิจเพชรมานาน และเรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์"

ด้วยจุดมุ่งหมายที่ดีที่จะขายความทรงจำ ไม่ได้ทำเพื่อหวังร่ำรวยกับธุรกิจนี้ เขายอมรับว่าแม้แต่เถ้ากระดูกของสัตว์ก็สามารถนำมาทำเป็นเพชรได้ และเมื่อเป็นเพชรมันก็จะมีมูลค่าและสามารถนำไปขายได้ ซึ่งอาจมีคนคิดอย่างนั้น แต่สำหรับพวกเขามีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่รับเถ้ากระดูกของสัตว์เพื่อป้องกัน ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ส่วนเถ้ากระดูกที่ได้มา มีศักดิ์ศรี ดังนั้นทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรับมา แล้วส่งไปที่ห้องแล็บประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนมาเป็นเพชรส่งถึงมือลูกค้า จะไม่ผ่านมือของช่างเทคนิคคนไหน จะให้เกียรติกับทุกอัฐิอย่างดีที่สุด

ขณะที่ผลพลอยได้จากการทำร้านเพชรมาข้ามทศวรรษ ทำให้บริการเป็น one-stop-sevice มาที่นี่ที่เดียว อยากทำเพชรจากเถ้ากระดูกก็ได้ หรือจะนำเพชรที่ได้มาเปลี่ยนเป็นเครื่องประดับสวยๆ ก็ทำได้ และมั่นใจได้ว่าเพชรจะไม่ถูกสับเปลี่ยนในระหว่างกระบวนการผลิต เพราะมีเพียง "เลอโบ" กับ "อัลกอร์แดนซ่า" เท่านั้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทั้งหมดนี้

พวกเขาเชื่อมั่นว่าจะให้บริการอย่างดีที่สุด แต่จะให้คนทุกคนลุกขึ้นมาเชื่อเหมือนกันไม่ได้ง่าย ที่มาของการเปิดเกมตลาด ทำประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ให้คนไทยได้รู้จักคอนเซปต์ และมองเห็นเจตนาดีที่ซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์

"สิ่งที่เราต้องทำคือ ให้เขาเชื่อในคอนเซปต์นี้ จากนั้นก็รู้ว่ามันมีอยู่ ซึ่งเราไม่ได้กำลังขายโปรดักท์ แต่เราขายเซอร์วิซ เพราะอัฐินี้เป็นของคนที่คุณรัก เมื่อมาทำเป็นเพชรเสร็จแล้วมันก็เป็นของคุณ ความทรงจำนี้เป็นของคุณ ไม่ใช่เป็นของเรา เราเป็นแค่ตัวเชื่อมให้เท่านั้น"

แม้จุดเริ่มต้นทุกคนจะเห็นโอกาสจากลูกค้าร้านเพชร แต่สำหรับ "ยงยศ" เขามองว่า คือลูกค้าตั้งแต่กลุ่ม บีบวก ขึ้นไป จะเป็นใครก็ได้ เพราะเชื่อว่าราคาค่าบริการคิดตามต้นทุนที่แท้จริง และทุกคนสามารถจับต้องได้

"ผมมองว่า ความทรงจำที่ดีเป็นสิ่งที่ตั้งราคายากมาก แต่เรารับประกันว่าอยู่ในอัตราที่ทุกคนรับได้ ยิ่งหากไปเปรียบเทียบกับบลูไดมอนด์เพราะเพชรนี้มีสีฟ้าเหมือนกัน ยิ่งต้องรีบทำเพราะมันจะถูกกว่ามาก โดยเทคโนโลยีที่มีเราทำได้ตั้งแต่ 0.25 -1 กะรัต ต่อเถ้ากระดูก 500 กรัม โดยต่อ 1 กะรัต คิดราคาที่ 7-8 แสนบาท ส่วน 0.25 กะรัตอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาท"

ผู้บริหารเลอโบ คาดหวังว่าจะได้ลูกค้าประมาณ 50 รายต่อปี แต่ทำใจได้ถ้าแม้ในปีนี้จะไม่มีลูกค้าสักรายเดียว นั่นเพราะความเชื่อต้องใช้เวลา และธุรกิจจะเป็นลักษณะขั้นบันได นั่นคือเริ่มจากคนยังไม่เชื่อ จนมารับรู้และเข้ามาใช้บริการจำนวนเยอะพร้อมๆ กัน จากนั้นก็จะชินและอาจขึ้นมาอีกถ้ามีกลุ่มที่ต้องการ

"ถ้าคนรับรู้แล้วครั้งเดียวอาจเข้ามาเป็น 10-20 คน ซึ่งเท่านั้นเราก็ดีใจแล้ว ลองคำนวณดูขั้นต่ำที่สุด ถ้าเขาทำ 0.25 กะรัต ราคา 2 แสนบาท ต่อปีก็เป็นหลายล้านแล้ว"

สำหรับการทำธุรกิจนี้ เขาบอกว่า ที่คนทำน้อย เพราะเป็นงานที่ยาก และใช้เทคโนโลยี ที่ต้องลงทุนสูง ต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้า สำหรับพวกเขาไม่ต้องลงทุนเรื่องเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเพราะไม่ใช่ผู้ผลิต แต่การลงทุนทั้งหมดจะเป็นด้านการตลาด โดยใช้งบประมาณในปีแรกไปที่ 3 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้เป็นหลัก โดยหากมีลูกค้าเข้ามาก็เชื่อว่าจะคืนทุนได้ในเวลาไม่นาน

อย่างไรก็ตามเกมธุรกิจของเลอโบ ในฐานะตัวแทนจำหน่าย "อัลกอร์แดนซ่า" ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ เนื่องจาก พวกเขายังมีสิทธิ์ทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย

"เขาให้เราดูเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมมองถึงหลายประเทศอย่างสิงคโปร์ เวียดนาม แต่ไม่รวมประเทศมุสลิมที่ไม่เผาศพแต่ใช้การฝัง ซึ่งเท่านี้ก็ดูไม่ไหวแล้ว เพราะต้องเข้าใจว่า การผลิตมีจำกัด อัลกอร์แดนซ่า มีแล็บที่สวิสและที่เบอร์ลิน จำนวนการผลิตต่อปียังน้อยมาก เพราะทำแบบเม็ดต่อเม็ด และใช้เวลานานถึง 4 เดือน จึงจะได้เพชรแต่ละเม็ดออกมา แต่นี่ยิ่งทำให้สินค้าเราเด่น มีความเป็นยูนิค ในความยากของมัน เวลาทำยาก คนจะมาเป็นคู่แข่งก็ยากตามไปด้วย เพราะเขาไปทำอย่างอื่นที่ได้เงินเร็วกว่ากันหมด กำแพงที่จะเข้ามามันจึงสูงมาก"

ความยากที่เขาเชื่อว่าจะสร้างความได้เปรียบในธุรกิจตามมา แต่ในท้ายที่สุด สิ่งที่เขาคาดหวังมากไปกว่าความสำเร็จทางธุรกิจ คือ เปลี่ยนเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ให้มีทางเลือกในการเก็บรักษาความทรงจำของคนที่รักไว้ได้

"เราไม่ได้ขายเรื่องของความเชื่อ ไม่ใช่การบูชา แต่เราขายความทรงจำที่คุณมีต่อคนที่คุณรัก"

อีกหนึ่งผลผลิตที่จุดประกายมาจากผลงานวิทยาศาสตร์ เพื่อแปลงสิ่งที่อยู่บนหิ้งให้ขึ้นห้างฯ ขอเพียงแต่ทำวิทยาศาสตร์ให้สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้เท่านั้น





แหล่ง : กรุงเทพธุรกิจ (www.bangkokbiznews.com)

No comments:

Post a Comment