Friday, June 5, 2009

เปิดไอเดียสู่ความสำเร็จ ให้ SMEs


เมื่อต้องก้าวสู่สนามการแข่งขันแล้ว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ต้องการความพ่ายแพ้ แต่มักหาหนทางไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ



เห็นได้จากการกำหนดกลยุทธ์การตลาดในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างยอดขาย รวมทั้งการเรียนรู้การทำงานจากแนวคิดใหม่ๆ เมื่อธุรกิจต้องการข้อมูลสำหรับการดำเนินธุรกิจ ดิฉันจึงถือโอกาสนี้นำเสนอไอเดียที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจประสบความ สำเร็จ ดังนี้

1.แนวคิดด้านการเงิน ซึ่งเป็นไอเดียเกี่ยวกับการแสวงหาเงินทุนและสร้างผลกำไร ธุรกิจใดก็ตามที่ไม่ได้ทำการบ้านเรื่องดังกล่าว โอกาสที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จนั้นน่าจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องมีแผนด้านการเงินไว้รองรับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งขอแยกออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

- เงินทุน แม้ว่าธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบต่อยอดขายก็ตาม แต่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารด้านเงินทุน เช่น เมื่อธุรกิจขาดสภาพคล่องจะต้องมีเงินทุนไว้รองรับความลำบากขององค์กร หากไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอจะต้องมองหาแหล่งเงินทุน หรือแม้แต่การบริหารและจัดการเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการต้องสามารถมีทางออกในด้านนั้น เช่น การลดรายจ่ายสำหรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่วัตถุดิบที่เคยนำเข้าจากญี่ปุ่น ต้องปรับเปลี่ยนเป็นการนำเข้าจากประเทศอื่นที่จะช่วยให้องค์กรต้องจ่ายน้อย ลง รวมทั้งการใช้วัสดุอื่นทดแทน เป็นต้น

- ยอดขายผลิตภัณฑ์ การให้ความสำคัญกับเรื่องยอดขายมักเป็นเรื่องที่องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นกระบวนการทำงานที่ช่วยสร้างเม็ดเงินและทำให้องค์กรอยู่รอด ดังนั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดกลยุทธ์ด้านการขายผลิตภัณฑ์โดยการ คำนึงถึง สิ่งแวดล้อมทางการตลาด ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง หากประสบปัญหาด้านผลประกอบการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ธุรกิจจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่สามารถเพิ่มยอดขายโดยการคำนึงถึงตลาดและผู้ บริโภคเป็นหลัก

อย่าลืมนะคะว่า แนวคิดด้านการเงินนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรายรับและรายจ่าย เมื่อใดก็ตามที่รายรับน้อยกว่ารายจ่าย ดิฉันคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับกระบวนการทำงานเพื่อมียอดขายเพิ่มขึ้น และทำให้สถานการณ์ด้านการเงินขององค์กรเข้าสู่ภาวะปกติ

2.แนวคิดด้านกระบวนการผลิต ดิฉัน ได้ย้ำเสมอว่า product นั้นมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างแนวคิดในการพัฒนาและปรับปรุงการทำงาน เพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งถือว่าเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืน นอกจากนี้แล้วการให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องเป็นการพึ่งพา ตนเองที่มีผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

- ลดข้อผิดพลาดและลดความเสียหายในการผลิต ธุรกิจที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีราคาแพง การกำหนดนโยบายการทำงานให้ชัดเจน เช่น การทำงานอย่างรอบคอบ การฝึกอบรมเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ ฯลฯ น่าจะเป็นวิธีสำคัญที่ช่วยให้องค์กรอยู่รอดได้ไม่ว่าจะผลิตสินค้าประเภทใดก็ ตาม หากสามารถลดจำนวนผลิตภัณฑ์ที่เสียหายและด้อยมาตรฐานลงได้จะช่วยลดต้นทุนและ เพิ่มประสิทธิภาพ ดังนั้นกระบวนการผลิตจำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดีในทุกๆ ด้าน

- ลดเวลาการทำงาน กระบวนการผลิตที่ใช้เวลายาวนานไม่ว่าจะด้วยเหตุผลและปัญหาใดก็ตาม องค์กรจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อหาทางแก้ไข หากสามารถลดเวลาการสร้างผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งจาก 1 ชั่วโมง เป็น 30-45 นาที จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรไม่น้อยเลยทีเดียว เป็นต้น

- เพิ่มคุณภาพ การให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร เนื่องจากผลผลิตจะมีคุณภาพและสามารถทำให้แข่งขันในตลาดได้ ที่สำคัญผู้บริโภคมักให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ ดังนั้นเมื่อคู่แข่งในตลาดได้พัฒนาคุณภาพ ดิฉันคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเพิ่มคุณภาพในกระบวนการผลิต

นอกจากแนวคิดด้านการเงินและกระบวนการผลิตแล้ว ธุรกิจจะสามารถอยู่ได้ยังต้องพึ่งพาบุคลากรและผู้บริโภค แนวคิดในเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญอย่างไรที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีก้าวไปสู่ ความสำเร็จและเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจต่างๆ ในระยะยาว ดังนี้

1.แนวคิดด้านผู้บริโภค เป็น ปัจจัยสำคัญมากสำหรับธุรกิจในปัจจุบันนี้ หากต้องการประสบความสำเร็จและสามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคอย่างรัดกุม โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกค้านั้นมีพฤติกรรมที่หลากหลายและมีทางเลือกมากขึ้น การทำงานจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้

- การสร้างความพึงพอใจ ไม่ว่าจะขายสินค้าหรือบริการก็ตาม จะต้องให้ความสำคัญกับนโยบายในการสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ตลอดไป เพราะการทำให้ลูกค้าติดใจแล้วกลับมาซื้อซ้ำและใช้บริการอีกจะเป็นผลดีในระยะ ยาวต่อธุรกิจ ดังนั้นรูปแบบการให้บริการจำเป็นต้องคำนึงถึงขั้นตอนในการสร้างความพึงพอใจ จึงต้องสร้างกลยุทธ์ในการตรวจสอบความพึงพอใจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามแสดงความคิดเห็น การใช้พนักงานขายสอบถามลูกค้า หรือแม้แต่การเปิดโอกาส

ให้มีการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าแสดงความรู้สึกที่แท้จริง อย่าลืมว่าข้อมูลจากลูกค้า 1 คนสามารถนำมาใช้ปรับปรุงการทำงานเพื่อทำให้ลูกค้าอีกจำนวนมากพึงพอใจได้ต่อ ไป

- การตอบสนองความต้องการ ความต้องการของผู้บริโภคคือที่มาของรายได้ ดังนั้นการผลิตสินค้าและบริการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้อง การของลูกค้าเป็นหลัก ผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่กระจายสู่ตลาดแล้วขายไม่ได้ อาจไม่ใช่เพราะกำหนดราคาขายแพงเกินไป แต่ผู้ประกอบการต้องย้อนกลับไปถึงต้นทางของการทำงาน ว่าได้มีการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ การทราบถึงทิศทางความต้องการของลูกค้าคือสิ่งที่ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว ดังนั้น ก่อนที่จะลงมือผลิตหรือกำหนดรูปแบบการให้บริการลูกค้า ดิฉันขอแนะนำให้แสวงหาข้อมูลด้านความต้องการของลูกค้าก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้มีช่องทางในการหาข้อมูลได้อย่างหลากหลาย

2.แนวคิดด้านบุคลากร เชื่อ ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักเห็นตรงกับดิฉันว่าคนนั้นมีความสำคัญต่อความ สำเร็จขององค์กร แม้ว่าเครื่องจักรจะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมต่างๆ ในบ้านเรามากขึ้น แต่ก็ยังต้องใช้กำลังคนเพื่อควบคุมและทำงานร่วมกับเครื่องจักร ดังนั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารและจัดการบุคลากรให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้

- มีการพัฒนาบุคลากร นอกจากผลิตภัณฑ์แล้ว ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรเพื่อให้สอดคล้องกับการ ทำงาน เช่น ตลาดมีการแข่งขันกันมากขึ้น องค์กรต้องใช้บุคลากรที่มีคุณภาพ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องสอดส่องว่ามีใครในองค์กรที่ต้องถูกส่งไปอบรม เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งในเรื่องนี้จำเป็นต้องเข้าไปดูแลว่าควรจะพัฒนาบุคลากรเป็นรายบุคคล หรือพัฒนาทั้งองค์กร เนื่องจากทุกขั้นตอนล้วนแต่มีต้นทุนทั้งสิ้น

- การบริหารและจัดการด้านบุคลากร ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจบางแห่งต้องเลิกจ้าง ดิฉันเข้าใจเป็นอย่างดีว่าจำเป็นต้องทำเพื่อให้องค์กรอยู่ต่อไปได้ แต่การจัดการเรื่องดังกล่าวจะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบ เช่น บางองค์กรลดจำนวนบุคลากรแล้วให้พนักงานที่เหลือทำงานมากขึ้น หรือคน 1 คนทำมากกว่า 1 หน้าที่ ฯลฯ แม้ว่าจะเป็นทางออกสำหรับองค์กร แต่อย่าลืมเรื่องประสิทธิภาพ หากไม่สามารถแข่งขันด้านคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานอาจทำให้เกิดปัญหา ได้เช่นกัน ดังนั้นการจัดการด้านบุคลากรในสถานการณ์ที่ต้องลดรายจ่ายต้องทำอย่างรอบคอบ

สรุปแล้ว ทั้งแนวคิดเรื่องการเงิน การผลิต ผู้บริโภค และบุคลากร ถือว่ามีความสำคัญต่อความอยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ไม่ใช่เฉพาะ 4 ประเด็นเท่านั้นที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ เพราะยังมี ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นประโยชน์ต่อความอยู่รอดของธุรกิจ ขอให้ติดตามในฉบับต่อไปนะคะ





แหล่ง : ประชาชาติธุรกิจ (www.matichon.co.th/prachachart)

No comments:

Post a Comment